ผักปลอดสารพิษที่พบสารเคมีพิษตกค้างมากที่สุด

ผักปลอดสารพิษที่พบสารเคมีพิษตกค้างมากที่สุด!
ตะลึง! “ผักปลอดสารพิษ” ร้อยละ 40 %ไม่ปลอดภัย พริกอันตรายสุด ถ้าท่านสนใจเรื่องอาหารปลอดสารพิษ! นี่คือผักที่ไม่พบสารพิษและที่พบสารพิษมากที่สุด

ตะลึง ! พบผักปลอดสารมีเคมีพิษที่ทั่วโลกห้ามใช้ สุ่มตรวจเจอกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แนะอย่าไว้ใจโฆษณา เตือนพริกขี้หนู คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว อันตราย แพทย์ชี้สารเคมีเกษตรทำเด็กพิการแต่กำเนิด ด้านสำนักควบคุมยอมรับมีบริษัทยื่นขอขึ้นทะเบียนสารพิษ 3 ชนิด

ผักปลอดสารพิษที่พบสารเคมีพิษตกค้างมากที่สุด
ผักปลอดสารพิษที่พบสารเคมีพิษตกค้างมากที่สุด ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

หลังจาก “คม ชัด ลึก” เสนอข่าวบริษัทยักษ์ใหญ่เอกชนกำลังยื่นเรื่องขอนำเข้ายาฆ่าแมลงสารเคมีพิษร้ายแรงที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้ โดยปีที่แล้วประเทศไทยนำเข้าถึง 7 ล้านกิโลกรัมนั้น ล่าสุดมีการตรวจพบผักสดที่วางขายตามท้องตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ต มีสารพิษถึง 4 ชนิด ได้แก่

“คาร์โบฟูราน” “เมโทมิล” “ไดโครโตฟอส” และ “อีพีเอ็น” ตกค้างอยู่จำนวนมาก ในขณะที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรเตือนหลัง วันที่ 22 สิงหาคม ห้ามนำเข้าหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนใหม่ พร้อมตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อพิจารณาก่อนออกใบอนุญาต

แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยข้อมูลต่อ “คม ชัด ลึก” ว่า เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผักสดตามท้องตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งพบว่ามีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในผักเกินขีดอันตรายหลายเท่า แม้กระทั่งในผักที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผักปลอดภัยก็พบยาฆ่าแมลงจำนวนมากเช่นกัน เมื่อนำตัวอย่างผักไปตรวจอย่างละเอียดพบมีสารเคมีพิษร้ายแรงที่ทั่วโลกห้ามใช้ตกค้างอยู่หลายชนิด

“ที่น่าเป็นห่วงคือผักที่วางขายใส่ถุง ประทับตราปลอดภัยด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรภายใต้สัญลักษณ์ตัวคิว “Q” หรือผักที่ได้รับรองคุณภาพ (quality) ว่าเป็นอาหารเซฟตี้หรืออาหารปลอดภัย (Food Safety) นั้นกลับพบยาฆ่าแมลงตกค้างเกินระดับที่กำหนดไว้ จากข้อมูลเบื้องต้น ผักร้อยละ 40 ที่วางขายในตลาด มีสารเคมีพิษร้ายแรงตกค้างเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนด” แหล่งข่าวกล่าว

จากการสุ่มตรวจผักกว่า 50 ชนิด มี 8 ชนิดที่พบสารเคมีพิษตกค้างมากที่สุดคือ
1.พริกขี้หนู
2.คะน้า
3.กวางตุ้ง
4.ถั่วฝักยาว
5.มะเขือเทศ-มะเขือเปราะ
6.ผักชี
7.กะหล่ำปลี
8.แตงกวา

โดยพื้นที่สุ่มตรวจทั้งกทม. ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม ระยอง ปราจีนบุรี ฯลฯ และจำนวนผักที่ส่งตรวจทั้งหมดพบว่ามีผักเพียงร้อยละ 3-4 เท่านั้น ที่ตรวจไม่พบสารเคมีตกค้าง ผักร้อยละ 60 พบสารเคมีตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนด และร้อยละ 40 พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานและบางชนิดตรวจพบเป็นสารเคมีพิษร้ายแรง ที่ห้ามใช้ในหลายประเทศทั่วโลกด้วย

สำหรับรายละเอียดของสารเคมีพิษอันตรายข้างต้นที่ตรวจพบนั้น มี 4 ชนิดคือ คาร์โบฟูราน (carbofuran), เมโทมิล (methomyl), ไดโครโตฟอส (dicrotophos), อีพีเอ็น (EPN) จากการตรวจผัก 39 ตัวอย่าง พบ “สารไดโคโตฟอส” ตกค้างจำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 18 ส่วน “สารอีพีเอ็น” ตกค้าง 4 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 10 “สารเมโทมิล” และ “คาร์โบฟูราน” พบชนิดละ 1 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3

“ตัวเลขนี้เป็นเรื่องน่าตกใจพอสมควร เพราะสุ่มตรวจผักแค่ 39 ถุง แต่พบว่ามี 13 ถุงที่เจอสารพิษอันตรายที่ต่างประเทศห้ามใช้ จากวันนี้ไปคงต้องลงพื้นที่เอาตัวอย่างผักมาตรวจมากกว่านี้ เพราะสารเหล่านี้ถ้าคนซื้อผักกินเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และคงต้องมีการตรวจสอบพวกผักที่อ้างว่าได้มาตรฐานผักปลอดภัยด้วย เพราะอาจเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค นึกว่าซื้อผักแพงขึ้นแล้วจะปลอดภัยจากสารเคมีพิษจริงๆ กับเจอสารพิษร้ายแรงไม่แพ้กัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาเอาจริงกับปัญหาเหล่านี้ เพราะสารเคมีพิษอยู่ในผักที่เรากินทุกวัน มันทำให้ตายได้” แหล่งข่าวข้างต้นกล่าวเตือน

ด้าน นพ.พิบูล อิสระพันธ์ รองผู้อำนวยการ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่าการผักผลไม้ที่มีสารเคมีเกษตรตกค้างอย่างต่อ เนื่องหลายปี จะทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ สารเคมีในยาฆ่าแมลงจะทำลายเอนไซม์ “โคลีนเอสเตอเรส” ที่ช่วยไม่ให้ประสาทถูกกระตุ้นมากเกินไป ถ้าขาดเอนไซม์ตัวนี้ระบบต่อมสมองจะทำงานผิดปกติ เกิดอาการ ตื่นเต้น ใจร้อน หงุดหงิด ฯลฯ ล่าสุดงานวิจัยพบว่าสารเคมีฆ่าแมลงสะสมในร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกพิการตั้งแต่กำเนิดด้วย อยากเสนอให้หน่วยงานสาธารณสุขทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะคนไทยกินผักผลไม้อาบสารพิษต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว

นายอานัติ วิเศษรจนา ผอ.สำนักควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรใช้สารเคมีทำการเกษตรหลายรูปแบบ ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ยากำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง ฯลฯ แต่สารที่อันตรายสุดคือสารป้องกันศัตรูพืช หรือที่ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า “ยาฆ่าแมลง” ล่าสุดจากการสำรวจตลาดขายอาหารพบสารต้องห้ามในผักหลายชนิด รวมทั้งสารเคมีร้ายแรง 4 ชนิดข้างต้นด้วย แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้เพราะอยู่ในช่วงวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไร่สวน ทำให้รู้ว่าเกษตรกรเกือบทุกคนใช้ยาฆ่าแมลงผิดวิธี ทำให้มีสารพิษตกค้างในพืชผักเกินมาตรฐานหลายเท่า ขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันแก้ปัญหานี้

นายธีระ รัตนพันธุ์ ผอ.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีทะเบียนการค้ากว่า 2.7 หมื่นฉบับ ขณะที่กระแสห่วงใยเรื่องความปลอดภัยในผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อปี 2551 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้ทะเบียนวัตถุอันตรายเดิมได้ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 เท่านั้น

ถ้าใครต้องการนำเข้า ผลิต จำหน่ายสารเคมีฆ่าแมลงต้องมายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนใหม่ โดยเปิดให้ยื่นมา 3 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียนประมาณ 2,500 ฉบับ และผ่านการอนุมัติแล้ว 20 กว่ารายการ ที่เหลืออยู่ในขั้นตอนพิจารณา สาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากต้องดูเอกสารพิษตกค้างอย่างละเอียด รวมถึงผลประเมินจากแปลงทดลองด้วย

“บริษัทที่นำเข้าและผลิตก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2554 จะได้รับอนุญาตให้ขายจนกว่าสินค้าจะหมด แต่หลังจากวันที่ 22 สิงหาคมแล้ว ถ้าไม่มีใบทะเบียนใหม่ก็ห้ามนำเข้าและผลิตรวมถึงจำหน่ายด้วย หลายคนอ้างว่าจะทำให้ยาฆ่าแมลงขาดตลาด หรือผู้ประกอบการเดือดร้อนเพราะอนุมัติล่าช้า ซึ่งก็พยายามอธิบายว่า ที่ผ่านมาไม่มีการควบคุมทำให้การใช้ยาฆ่าแมลงเกินความจำเป็น

และการขอขึ้นทะเบียนก็ทำได้ง่าย มีชื่อทางการค้ามากมาย สร้างความสับสนให้เกษตรกร ระเบียบใหม่จะรัดกุมและเข้างวดขึ้น เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ที่อ้างว่าสินค้าจะขาดตลาดคงไม่ใช่เรื่องจริง เพราะดูตัวเลขสต็อกของแต่ละบริษัทแล้ว น่าจะเหลือขายได้อีกเป็นปี คงมีการเก็งกำไรตุนไว้ อยากเพิ่มราคาขายให้สูงขึ้น เริ่มมีการปล่อยข่าวลือว่าสินค้าจะขาดตลาด คงหวังให้เกษตรกรยอมจ่ายแพงขึ้น” นายธีระกล่าว

ผอ.ธีระระบุอีกว่า สารเคมีฆ่าแมลงอันตราย 4 ตัวข้างต้นในหลายประเทศห้ามใช้ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศห้าม จนถึงวันที่ 5 สิงหาคมมีบริษัทมายื่นคำขอขึ้นทะเบียนตามระเบียบใหม่แล้ว 3 ตัวคือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล และไดโครโตฟอส ส่วน อีพีเอ็น ยังไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา อาจมีการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมาดูแล ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะอนุญาตหรือไม่

ด้าน น.ส.รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ นักวิจัยด้านสารเคมีเกษตร มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าการขึ้นทะเบียนสารเคมีพิษ 4 ชนิดข้างต้น ควรมีหลักฐานยืนยันความปลอดภัยเสียก่อน ไม่ทราบว่าบริษัทที่มายื่นจะเอาหลักฐานเรื่องความปลอดภัยมาจากไหน เพราะทั่วโลกไม่ให้ใช้แล้ว โดยเฉพาะตัวคาร์โบฟูรานที่อเมริกาห้ามใช้ แต่บริษัทนำเข้ามาจากอเมริกาเอามาให้เกษตรกรไทยใช้ได้อย่างไร อันตรายเกิดกับผู้บริโภค หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องระวังเอกสารที่มายื่นน่าเชื่อถือหรือไม่ จึงอยากเสนอให้เปิดเผยออกมาทั้งหมด เพื่อให้นักวิชาการช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง

Leave a Reply